ดังจะเห็นได้จากการที่ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางมีการนำส่วนของกัญชามาผสมในผลิตภัณฑ์ แต่การปลูกในปัจจุบันยังต้องได้รับการขออนุญาต อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยแทบจะไม่มีการพูดถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปลูกกัญชาเชิงพานิชย์ซึ่งเป็นเรื่องที่ในต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญในขณะนี้
การปลูกในปัจจุบันมีอยู่ 3 แบบ คือ การปลูกกลางแจ้ง (outdoor) การปลูกกึ่งโรงเรือน (greenhouse) และการปลูกในโรงเรือนแบบระบบปิด (indoor) การปลูกกัญชาทางการแพทย์จะต้องควบคุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัดและการควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้สารสกัดที่บริสุทธิ์และตรงตามมาตรฐานสากล จากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่าการปลูกกัญชาในโรงเรือน (indoor) สามารถผลิตกัญชาที่ได้มาตรฐานมากที่สุดเพราะเป็นวิธีการปลูกที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการเติบโตของต้นกัญชาได้อันจะนำไปสู่ผลิตผลที่ได้มาตรฐาน การปลูกแบบindoor จึงเป็นระบบที่ตลาดสากลยอมรับ เป็นวิธีการปลูกที่ลงทุนสูงและจะทำให้เกิดมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดเช่นกัน
การปลูกกัญชาในโรงเรือนใช้ต้นทุนสูงเพราะต้องใช้กระบวนการในการควบคุมสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การรักษาอุณหภูมิ แสง ความชื้น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการหมุนเวียนของอากาศ จึงเป็นวิธีการปลูกที่ต้องควบคุมทุกขั้นตอนและต้องใช้พลังงานจำนวนมาก เช่น การใช้ไฟในการให้แสง การปั๊มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช การใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมซึ่งปกติแล้วพืชกัญชาจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 20-25 เซลเซียส และการใช้พลังงานในการหมุนเวียนอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่โรงเรือน โดยอากาศภายนอกทั้งหมดที่เข้าสู่โรงเรือนจำเป็นต้องได้รับการบำบัดเพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้นที่ถูกต้อง การระบายอากาศที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสังเคราะห์แสงของพืชและการป้องกันศัตรูพืชและเชื้อรา และเนื่องจากอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศหรือจำนวนครั้งที่อากาศถูกแทนที่ในโรงเรือนต่อชั่วโมงโดยทั่วไปมีอัตราที่สูงมาก การหมุนเวียนอากาศจึงเป็นขั้นตอนที่ใช้พลังงานมากที่สุดสำหรับการปลูกแบบโรงเรือน
ขั้นตอนต่าง ๆ ในการปลูกแบบโรงเรือนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากซึ่งจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ตามข้อมูลทางสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของรัฐโคโลราโดซึ่งเป็นรัฐที่กัญชาถูกกฎหมาย อุตสาหกรรมกัญชามีสัดส่วน 1.3% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดต่อปีของรัฐ ซึ่งเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่และจากการเผาขยะสำหรับทั้งรัฐ อย่างไรก็ตาม การวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการปลูกแบบโรงเรือนนั้นมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ เช่น หากปลูกในรัฐริมชายฝั่งทะเลจะต้องการพลังงานในการหมุนเวียนอากาศน้อยกว่าการปลูกในตอนกลางของประเทศ ซึ่งหมายความว่ามีการปล่อยสารเรือนกระจกน้อยกว่านั่นเอง ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกแบบโรงเรือนยังขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง เช่น รูปแบบของตัวอาคาร อายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นต้น ในทางกลับกัน การปลูกแบบกลางแจ้งและการปลูกแบบกึ่งโรงเรือนเป็นวิธีการปลูกที่ใช้แสงธรรมชาติและไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานในการควบคุมทุกขั้นตอน จึงเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่มีมูลค่าทางการตลาดต่ำกว่าผลิตผลจากการปลูกแบบโรงเรือนแบบปิด
สรุปแล้ว การปลูกกัญชาในโรงเรือนต้องใช้พลังงานสูงมากกว่าการปลูกแบบอื่นและทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงด้วยเช่นกัน ก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไปสามารถทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศดังที่เห็นได้จากเหตุการณ์สภาพอากาศแปรปรวนที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมายเพื่อตอบสนองกับอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2020 ที่ผ่านมาและมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกัญชาจะเติบโตจนถึง 90,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2028 ขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศปลูกกัญชาเชิงพานิชย์และอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ การปลูกแบบโรงเรือนจึงตอบโจทย์ในการแข่งขันระดับโลกนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นอุตสาหกรรมกัญชากับภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นที่นักสิ่งแวดล้อมให้ความสนใจแต่ยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในระดับผู้ออกกฎหมาย
ในประเทศไทย อุตสาหกรรมกัญชาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลทางสถิติที่แน่นอนเกี่ยวกับการผู้ปลูกและการปลูกในรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งงานวิจัยในประเทศส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเรื่องการใช้กัญชาในการรักษาโรค การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการวิจัยในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ มีงานวิจัยเพียงส่วนน้อยที่พูดถึงการปลูกหรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการปลูกกัญชา ปัจจุบันทางภาครัฐเน้นส่งเสริมการปลูกกัญชาแบบโรงเรือนเพราะจะทำให้เกิดมูลค่าทางการตลาดสูงสุด แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายที่จะควบคุมในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทย อีกทั้งปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนเป็นหัวข้อที่ภาคประชาชนยังไม่ค่อยให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการยกพืชกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับประเทศและมุ่งเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ อันจะเกิดขึ้นได้จากการปลูกแบบโรงเรือนครบวงจร ทางภาครัฐควรคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระยะยาวที่จะเกิดจากอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังผลักดันด้วยเช่นกัน
Source: The Conversation: https://theconversation.com/growing-cannabis-indoors-produces-a-lot-of-greenhouse-gases-just-how-much-depends-on-where-its-grown-156486.
https://doi.org/10.1038/s41893-021-00691-w.