กัญชาแผนไทยกับกัญชาทางการแพทย์แตกต่างกันอย่างไร ?

เป็นที่ทราบกันดีว่ากัญชาถูกใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนไทยมากว่า 300 ปี ปัจจุบันเมื่อกฎหมายเปิดให้กัญชาถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ กัญชาจึงถูกนำมาผสมในตำรับยาอีกครั้ง สูตรต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยจากตำราแพทย์แผนไทยโบราณซึ่งใช้ประโยชน์อ้างอิงสรรพคุณของกัญชาในฐานะที่เป็นพืชสมุนไพร ขณะนี้มีสูตรยาที่ได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอยู่ 16 สูตรที่มีทั้งกัญชาและพืชสมุนไพรอื่น ๆ ตำรับยาที่เป็นที่รู้จัก เช่น ยาศุขไสยาศน์ ใช้ในเรื่องการนอนหลับ ยาทำลายพระสุเมรุ ใช้บรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและแก้ลมจุกเสียด หรือยาแก้ลมแก้เส้นใช้บรรเทาอาการมือเท้าชา เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาในตำรับยาแผนไทยนั้นต่างจากกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน กล่าวคือ ยาตำรับแผนไทยใช้ทุกส่วนของต้นกัญชา คือ ราก ต้น ก้าน ใบ และดอก และมิได้คำนึงถึงความเป็นเพศผู้หรือเพศเมียของต้นกัญชา การใช้กัญชาในยาตำรับแผนไทยเป็นการผสมผสานกับสมุนไพรอื่น ๆ ขึ้นมาเป็นสูตรยา นอกจากนี้แต่ละส่วนของต้นกัญชาถูกนำไปใช้แตกต่างกันไป เช่น ส่วนรากนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำมันนวด หรือเอาไปทำลูกประคบร้อน เพราะพบว่ามีสรรพคุณลดอาการปวดและอักเสบ หรือ การที่นำใบกัญชามาใส่ในอาหารถือเป็นวัฒนธรรมไทยในการใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรส สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยในการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคและการดำรงชีวิต สายพันธุ์ไทยที่นิยมใช้คือ พันธุ์หางกระรอก (หรือที่ฝรั่งรู้จักกันในนาม Thai stick) นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไทยอื่น ๆ เช่นพันธุ์หางเสือ พันธุ์ตะนาวศรี พันธุ์ภูพานหรือพันธุ์ฝอยทอง ขณะนี้มีการเก็บข้อมูลสายพันธุ์กัญชาของไทยจากทั่วประเทศเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป

 

ส่วนกัญชาทางการแพทย์ หรือ medical grade cannabis มีการผลิตเหมือนการผลิตยาแผนปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องควบคุมขั้นตอนและสภาวะแวดล้อมตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ วิธีการปลูก การเติบโตในระยะต่าง ๆ การเก็บเกี่ยว กรรมวิธีการสกัดสารประกอบที่สำคัญและบนฉลากจะต้องสามารถแสดงสัดส่วนของสารประกอบต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนเพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานและความบริสุทธิ์ของตัวยาในการนำไปใช้รักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสารประกอบกัญชาที่สามารถนำมาใช้รักษาทางการแพทย์ได้คือสารประกอบ THC และ CBD ที่มาในรูปแบบของน้ำมันกัญชาสารสกัดบริสุทธิ์ ปัจจุบันในประเทศไทยระบุว่าสามารถใช้สารสกัดกัญชาในการรักษา 4 โรค คือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ ภาวะปวดประสาท  ในต่างประเทศมีการผลิตยาแผนปัจจุบัน (modern medicine) จากสารสกัดกัญชาเช่นยา Epidiolex ที่ได้รับการรองรับจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในการรักษาอาการลมชัก หรือยา Sativex ที่เป็นยาพ่นคอใช้รักษาอาการที่เกี่ยวกับปลอกประสาทเสื่อม เป็นต้น 

 

ดังนั้น ข้อแตกต่างของยากัญชาแผนไทยและกัญชาทางการแพทย์ คือ ยากัญชาแผนไทยใช้ทุกส่วนของพืชกัญชา เป็นการใช้สูตรยาแผนไทยในการรักษาโดยการใช้กัญชาร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ และจะไม่สามารถวัดค่าสารประกอบต่าง ๆ ได้อย่างเที่ยงตรง ส่วนกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้สารประกอบจากกัญชาที่มีลักษณะเป็นสารสกัดบริสุทธิ์เพียงอย่างเดียวและเป็นประเภทที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ในอุตสาหกรรมกัญชาโลก ปัจจุบันจึงเริ่มมีการใช้กัญชาทางการแพทย์ในตำรับยาแผนไทยเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและสร้างมาตรฐานในการรักษาด้วยองค์ความรู้แผนไทย โดยขณะนี้มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยกว่า 500 แห่งทั่วประเทศที่ขึ้นต่อกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจในการใช้ยากัญชาควรคำนึงว่าในประเทศไทยมีทั้งน้ำมันกัญชาที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ (medical grade) ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม และน้ำมันกัญชาที่ผลิตโดยคลินิกแพทย์แผนไทยที่สกัดจากทุกส่วนของต้นกัญชา ซึ่งเป็นสองทางเลือกสำหรับผู้ต้องการใช้กัญชาในการรักษา ผู้ใช้จึงควรศึกษาหาข้อมูลเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของส่วนประกอบและคุณภาพของน้ำมันกัญชาจากสองทางเลือกนี้และควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน 

 

ที่มา: โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

Tags :
กัญชง,กัญชา,กัญชาทางการแพทย์,กัญชาแผนไทย
Share This :

News Updated

Category

News & Event

Get a Promo and Keep Updated