การใช้ใบกัญชาในอาหารไทย

กัญชานับว่าเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่คู่ครัวเรือนไทยมาอย่างยาวนาน ใบกัญชาถูกนำมาใช้ในสูตรยาสมุนไพร และใช้สำหรับปรุงอาหารเพื่อชูรสชาติ (คล้ายการใส่ผงชูรสในปัจจุบัน) โดยมักนิยมใส่ในตำรับอาหารรสจัดจ้าน เผ็ดร้อน ไม่ว่าจะเป็นในก๋วยเตี๋ยวเรือ, แกงอ่อมไก่, แกงแคหมูย่าง, ต้มยำไก่บ้าน, ลาบปลา, ยำ หรือน้ำพริก ภูมิปัญญาการนำใบกัญชามาใช้ในตำรับอาหารนี้นับว่าเป็นวัฒนธรรมการปรุงอาหารที่มีเอกลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค และยังแตกต่างจากประเทศอื่นๆด้วย แต่ต่อมาได้มีประกาศว่ากัญชาเป็นสารเสพติดตามกฎหมายประเภทที่ 5 ในปี พ.ศ. 2568, 2477 และปี 2522 จึงทำให้กัญชาถูกหยุดนำมาผสมในอาหารหรือสูตรสมุนไพรไทยต่อ

ปัจจุบันประเทศไทยได้ปลดล็อคกัญชา และกัญชง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย การนำใบกัญชามาใช้สูตรอาหารและเครื่องดื่มจึงกลับมาคึกคักกันอีกครั้งหลังจากหยุดใช้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เราสามารถต่อยอดไอเดียใบกัญชาในเมนูทั้งอาหารคาวและอาหารหวานมากมาย การรับประทานกัญชาในปริมาณที่พอเหมาะพอดี ช่วยให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย นอนหลับสบาย เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่แน่นอนว่ารับประทานมากเกินไปหรือปรุงไม่ถูกวิธีก็เกิดโทษเช่นกัน เพราะกัญชามีสารสำคัญทางเคมีที่ผลต่อร่างกายนั่นคือ สารTHC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท, ทำให้ผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม หรืออาจทำให้เกิดอาการจิตหวาดระแวง หรือเรียกว่า “เมา” นั่นเอง โดยหากอาหารมีปริมาณสาร THC มากกว่า 0.2% ( 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จะถือว่าผิดกฎหมาย ในหนึ่งวันเราไม่ควรทานใบกัญชาเกิน 5 – 8 ใบ ต้องปรุงอย่างถูกวิธีจึงจะสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย นั่นคือไม่ควรนำใบกัญชาไปผ่านการปรุงอาหารความร้อนนาน โดยเฉพาะการทอด เพราะจะทำให้ปริมาณสาร THC สูงขึ้น แต่หากเป็นเมนูต้ม ก็จะมีสาร THC ละลายในอาหารน้อยกว่าการปรุงอาหารแบบทอดอย่างชัดเจน หรือแนะนำให้ทานเป็นใบสดจะปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้การใช้ใบกัญชาแบบบด จะมีปริมาณสาร THC ละลายออกสู่อาหารมากกว่าการใช้แบบใบ

การใช้ใบกัญชาในอาหาร จำเป็นต้องมีแหล่งที่มาที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และกฎหมายปัจจุบันอนุญาตใช้ได้เฉพาะส่วนเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบ จากพืชกัญชาเท่านั้นส่วนของน้ำมัน และช่อดอกยังไม่ได้รับอนุญาต และผู้บริโภคบางกลุ่มก็ไม่ควรทานกัญชา เช่น หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, ผู้ป่วยโรคหัวใจ, ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ผู้ป่วยที่ภาวะทำงานของตับและไตบกพร่อง และผู้ป่วยจิตเวช ดังนั้นร้านอาหารจึงควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้ใบกัญชาผสมในอาหาร และควรแจ้งผู้บริโภคทุกครั้งหากมีการใส่ใบกัญชาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับสาร THC ที่มากเกินไป

 

อ้างอิง

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. (2021) .กัญชากับตำรับอาหารไทย.(8 กุมภาพันธ์ 2565). ค้นจาก https://ockt.dtam.moph.go.th/images/Document/cannabis_book.pdf

ป้อมยาม จุดประกาย (2022).ปลูก”กัญชา”ไว้หลังบ้าน ใครว่าทำได้…ไม่ผิดกฎหมาย.(8 กุมภาพันธ์ 2565). ค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/982764

มติชนออนไลน์. (2022). หมอเตือน เปิบ “เมนูกัญชา” ต้องระวัง! เหตุความร้อน-น้ำมัน อาจทำให้รับสารมึนเมามากเกิน.(8 กุมภาพันธ์ 2565). ค้นจาก https://www.matichon.co.th/local/news_2589652

 

Tags :
กฎหมายกัญชา,กัญชา,กัญชาแผนไทย,ผลกระทบ,สารประกอบกัญชา
Share This :

News Updated

Category

News & Event

Get a Promo and Keep Updated