ปัจจุบันมีอาหารและเครื่องดื่มมากมายที่เริ่มนำใบกัญชามาปรุง ในใบกัญชามีสาร THC หรือสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาททำให้เกิดอาการ “เมา” ได้ ซึ่งสาร THC จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์กัญชานั้น ๆ และวิธีการปรุงแต่ง วิธีการนำใบกัญชาผ่านความร้อนโดยการใช้น้ำมันถือเป็นวิธีที่ทำให้สาร THC ออกมาได้มากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจว่าบางครั้งผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาจะเกิดอาการเมา และหากได้รับสาร THC ที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดผลกระทบทางลบ เช่น อาการใจสั่น คอแห้ง วิตกกังวลหรือคลื่นไส้
ร่างกายคนเราตอบสนองกับสารประกอบกัญชาแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะรู้สึกผ่อนคลาย ในขณะที่บางคนอาจได้รับผลกระทบในแง่ลบ ทั้งนี้ ผลกระทบของสาร THC ในกัญชาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น ค่าของสาร THC ในกัญชา วิธีการบริโภค (การกินส่งผลกระทบยาวนานกว่าการสูบ) ประสบการณ์ส่วนตัวในการใช้กัญชา (ผู้ที่เคยใช้กัญชามาก่อนจะมีความทนทานต่อสาร THC มากกว่าผู้ไม่เคยใช้) สิ่งแวดล้อมและสถานที่ในขณะนั้น ยาหรือแอลกอฮอล์ และปัจจัยทางพันธุกรรม (THC สลายตัวในร่างกายได้เร็วหรือช้า) เป็นต้น
แล้วจะทำอย่างไรหากบริโภคกัญชามากเกินไป ?
ปกติแล้วผลกระทบจากกัญชาจะรู้สึกได้ 1-3 ชั่วโมงหลังการบริโภค หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล หวาดระแวง คลื่นไส้ ตื่นตระหนก หรือมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่สามารถทำได้หากรู้สึกถึงอาการเหล่านี้คือ พยายามดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ ไม่ตื่นตระหนกและพยายามหาอะไรทำเพื่อให้ตนเองผ่อนคลาย ยังมีอาหารที่เชื่อว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการเมาได้ เช่น มะนาว พริกไทยดำ แต่ท้ายสุดแล้วอาการและความรู้สึกแย่เหล่านี้มักจะค่อยๆหายไปเองในเวลาหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ลักษณะของผู้ป่วยกัญชาเกินขนาดบางรายมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและมีการใช้ยาประจำตัวร่วมด้วยหากเริ่มมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
สรุปแล้วร่างกายของคนเราตอบสนองกับสารในกัญชาแตกต่างกัน ร้านค้าที่ใส่ผลิตภัณฑ์กัญชาในอาหารและเครื่องดื่มจึงควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้ใบกัญชาผสมในอาหาร และควรแจ้งผู้บริโภคทุกครั้งหากมีการใส่ใบกัญชาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับสาร THC ที่มากเกินไป
#กัญชง #กัญชา #กัญชาไทย #กัญชาทางการแพทย์ #cannabisthailand #teeralife